ทำความรู้จักอันตรายจากคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon dioxide)

SHARE
TWEEET
EMAIL

จากกรณีไฟไหม้โรงงานที่ #ซอยกิ่งแก้ว วันนี้คณะวิทยาศาสตร์ ม.อ. จะพูดถึงพิษของ คาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon dioxide) เพื่อเป็นความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ จาก หนังสือพิษวิทยาอาชีพ

ลักษณะทางกายภาพ

ในสภาวะปกติจะเป็นแก๊ส ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่มีรส หนักกว่าอากาศ หากถูกอัดด้วยความดันและทำให้เย็นลง จะอยู่ในสถานะของเหลวและของแข็งได้ ถ้าอยู่ในรูปของเหลว จะเรียกว่าคาร์บอนไดออกไซด์เหลว (Liquid carbon dioxide) ถ้าอยู่ในรูปของแข็งเป็นผลึกเย็น จะเรียกว่าน้ำแข็งแห้ง (Dry ice)

คำอธิบาย

คาร์บอนไดออกไซด์เป็นแก๊สที่มีอยู่ทั่วไปในบรรยากาศ แก๊สนี้มีบทบาทสำคัญต่อการดำรงชีพของทั้งมนุษย์ สัตว์ และพืช เป็นสารตั้งต้นที่พืชใช้ผลิตอาหารโดยกระบวนการสังเคราะห์แสง ในด้านอุตสาหกรรมนั้น คาร์บอนไดออกไซด์ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในหลายๆ ด้าน โอกาสการเกิดพิษของแก๊สชนิดนี้ ในการทำงานโดยปกติมีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อย อย่างไรก็ตามหากได้รับแก๊สนี้เข้าไปในปริมาณมาก จะทำให้หายใจเร็ว ชีพจรเร็ว หัวใจเต้นเร็ว กดสมอง ซึม มึนงง สับสน หมดสติ และอาจเสียชีวิตได้

กลไกการก่อโรค

แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ก่อโรคได้ทางหนึ่งโดยการแทนที่ออกซิเจน (Asphyxiant) ทำให้ออกซิเจนในอากาศมีไม่พอ จึงเกิดพิษจากภาวะออกซิเจนในเลือดต่ำ (Hypoxia) ขึ้นได้ การที่มีคาร์บอนไดออกไซด์คั่งในเลือด (Hypercapnia) ไม่ว่าจะจากการขาดออกซิเจนหรือได้รับคาร์บอนไดออกไซด์เข้าไปมากก็ตาม จะทำให้เลือดเป็นกรด (Acidosis) เกิดการขยายตัวของหลอดเลือด กระตุ้นระบบหายใจให้หายใจเร็วขึ้น ทำให้หัวใจเต้นเร็ว และกดสมอง สำหรับกลไกการก่อโรคในกรณีคาร์บอนไดออกไซด์เหลวกับน้ำแข็งแห้งนั้น จะก่ออันตรายจากความเย็นจัด ซึ่งสามารถกัดกร่อนเนื้อเยื่อผิวหนังส่วนที่สัมผัส ทำให้เกิดเนื้อตายได้

อาการทางคลินิก

  • อาการเฉียบพลัน การได้รับแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์นั้น เข้าสู่ร่างกายโดยการสูดหายใจเข้าไปเป็นหลัก การสัมผัสกับแก๊สที่ผิวหนังหรือกลืนกินเข้าไปไม่ทำให้เกิดพิษ เมื่อสูดหายใจเอาแก๊สเข้าไป ในระยะแรกจะทำให้เกิดอาการหายใจเร็ว หายใจลึกขึ้น ความดันโลหิตสูงขึ้น หัวใจเต้นเร็ว ชีพจรเร็ว หากได้รับในปริมาณมากขึ้น จะเริ่มมีผลกดสมอง ทำให้ซึมลง ปวดศีรษะ วิงเวียนศีรษะ มึนงง สับสน การได้ยินลดลง และรบกวนการมองเห็น เนื่องจากสมองถูกกดการทำงาน ที่ผิวหนังจะเกิดหลอดเลือดขยายตัว เหงื่อออก กล้ามเนื้อสั่นกระตุก (Tremor) อาจพบมีคลื่นไส้ อาเจียน และท้องเสียได้ บางรายอาจมีอาการคลั่ง (Panic) หากได้รับปริมาณสูงมากจะทำให้หมดสติ และเสียชีวิตในที่สุด อาการพิษจากแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์นี้ มักจะพบร่วมกับภาวะขาดออกซิเจน (Hypoxia) ได้เสมอ ซึ่งภาวะขาดออกซิเจน อาจนำไปสู่อาการอย่างอื่นๆ เช่น สมองตาย ไตเสื่อม ตาบอด ตามมาได้ ในผู้ป่วยที่รอดชีวิตจากเหตุการณ์ที่ทะเลสาบนีออส [10] หลายรายมีอาการ ไอ ไอเป็นเลือด หอบเหนื่อย ระคายเคืองตา และแผลไหม้ที่ผิวหนังด้วย อย่างไรก็ตามเนื่องจากแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ที่รั่วไหลในเหตุการณ์ทะเลสาบนีออสนี้มีไอความร้อนจากภูเขาไฟปะปนมาด้วย อาการระคายเคืองและแผลไหม้ที่ผิวหนังดังกล่าว จึงอาจจะเกิดจากไอความร้อน ไม่ได้เกิดจากพิษของแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ก็ได้
  • อาการระยะยาว การได้รับคาร์บอนไดออกไซด์ในระดับสูงกว่าปกติสามารถพบได้ในตึกที่ระบบระบายอากาศไม่ดี ระดับของแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์สะสมนั้น ถูกใช้เป็นตัวชี้วัดหนึ่ง เพื่อดูอัตราการไหลเวียนของอากาศภายในอาคาร ผลของการได้รับแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ไปนานๆ อาจทำให้ปวดหัวบ่อย กดสมอง มึนงง ง่วงซึม เครียด ความดันโลหิตและอัตราการหายใจอาจเพิ่มสูงขึ้นได้ ในกรณีของผู้รอดชีวิตจากการได้รับแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ปริมาณสูงนั้น การศึกษาจากเหตุการณ์ที่ทะเลสาบนีออส หลังจากเกิดเหตุการณ์ประมาณ 4 ปี ไม่พบว่าผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์มีอาการของระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ มีเสมหะ หรือหอบเหนื่อยตกค้าง และสมรรถภาพปอดไม่ได้ลดลง

การป้องกันและเฝ้าระวัง

แม้ว่าโอกาสการเกิดพิษจากแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ในการทำงาน จะเกิดขึ้นได้น้อย อย่างไรก็ตามหากมีการประเมินความเสี่ยง แล้วมีโอกาสที่สถานที่ทำงานจะเกิดการคั่งสะสมของแก๊สได้ หรือมีการใช้แก๊สนี้ในปริมาณมาก ให้ทำการป้องกันโดยยึดหลักลดการสัมผัส ตามหลักการด้านอาชีวอนามัย การจัดเก็บแก๊สในถังบรรจุต้องทำให้มีมาตรฐาน เพื่อลดโอกาสการรั่วไหล การทำงานในที่อับอากาศ ต้องมีการตรวจสอบระดับแก๊ส และมีมาตรการด้านความปลอดภัยควบคุม กรณีคาร์บอนไดออกไซด์คั่งเนื่องจากระบบระบายอากาศภายในอาคารไม่ดี แก้ไขได้โดยการออกแบบระบบระบายอากาศให้ไหลเวียนดีขึ้น ส่วนกรณีของคาร์บอนไดออกไซด์เหลวและน้ำแข็งแห้ง เพื่อความปลอดภัยต้องมีการติดฉลากระบุชื่อสารเคมีให้ทราบได้ชัดเจน เก็บไว้ให้ห่างแหล่งน้ำและความชื้น เก็บในห้องเย็นที่ปิดสนิท

อ้างอิง

  • Baxter PJ, Kapila M, Mfonfu D. Lake Nyos disaster, Cameroon, 1986: the medical effects of large scale emission of carbon dioxide? BMJ 1989;298(6685):1437-41.
  • Afene Ze E, Roche N, Atchou G, Carteret P, Huchon GJ. Respiratory symptoms and peak expiratory flow in survivors of the Nyos disaster. Chest 1996;110(5):1278-81.
SHARE THIS STORY
SHARE
TWEEET
EMAIL

RELATED STORIES