แสดงความยินดีกับ รองศาสตราจารย์ ดร.การุณ ทองประจุแก้ว ที่ได้รับทุนมูลนิธิโทเรฯ พร้อมเชิญชวนศิษย์เก่าร่วมส่งรูปในอดีตในวาระครบรอบ 55 ปีคณะวิทยาศาสตร์ ม.อ.

13
MAR
2023

"

คณบดี

อัญชนา ประเทพ

แสดงความยินดีกับ รองศาสตราจารย์ ดร.การุณ ทองประจุแก้ว ที่ได้รับทุนมูลนิธิโทเรฯ พร้อมเชิญชวนศิษย์เก่าร่วมส่งรูปในอดีตในวาระครบรอบ 55 ปีคณะวิทยาศาสตร์ ม.อ.

สวัสดีค่ะสมาชิกชาวคณะวิทยาศาสตร์ทุกท่าน

ทุก ๆ อาทิตย์เราจะมีข่าวดีมาแบ่งปันกันเสมอ อาทิตย์นี้ต้องขอร่วมแสดงความยินดีกับท่าน รองศาสตราจารย์ ดร.การุณ ทองประจุแก้ว นักวิจัยสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพและวิทยาศาสตร์ประยุกต์ ที่ได้รับมอบทุนทางด้านวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ของมูลนิธิโทเรเพื่อการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ ประเทศไทย จากพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี สำหรับโครงการ: ปัจจัยทางกายภาพบางประการและการพัฒนาระบบเลี้ยงปลากัด (Betta splendens) แบบหนาแน่นในเชิงพาณิชย์ ถือได้ว่าเป็นทุนรางวัลอีกทุนที่สำคัญของประเทศ ต้องร่วมแสดงความยินดีกับอาจารย์ด้วยค่ะ นอกจากความเก่งในเรื่องของงานวิจัยแล้ว เรื่องของการเขียนหนังสือ หรืออื่น ๆ ที่ท่านอาจารย์มีก็ได้นำมาถ่ายทอดแลกเปลี่ยนให้กับสมาชิกชาวคณะวิทยาศาสตร์ของเราตลอดมา และอาจจะถือโอกาสรบกวนอาจารย์เปิดเวทีเล่าประสบการณ์งานวิจัยและรางวัลนี้ให้กับพวกเราด้วยนะคะ

อาทิตย์ที่ผ่านมามีโอกาสไปร่วมประชุมเครือข่ายงานวิจัยที่ได้มีความร่วมมือกันระหว่างประเทศญี่ปุ่นและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นเครือข่ายงานวิจัยที่มีความร่วมมือกันมาร่วม 20 ปี เห็นพัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงกันพอสมควร ถือโอกาสแบ่งปันมุมมองกับพวกเราตรงนี้นะคะ ประเทศญี่ปุ่นเองรูปแบบการทำงานและให้ทุนก็แตกต่างไปจากเดิมมาก การทำงานวิจัยอาจจะมองว่าเป็นเรื่องของ co-fundings มากยิ่งขึ้นทุนให้เปล่าน้อยลง ในส่วนของมาเลเซียเองก่อนหน้านี้รัฐบาบมีนโยบายเรื่องของ Malaysia vision 2020 ที่มีการลงทุนพัฒนามหาลัยอย่างมาก รวมถึงการขับเคลื่อนเพื่อที่ Benchmark ตัวเองกับมหาวิทยาลัยระดับโลกทำให้มีการพัฒนา Ranking สูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด วันนี้ความท้าทายน่าจะเป็นเรื่องของการทำยังงัยให้ Ranking ดังกล่าวคงอยู่ได้เมื่อทุนสนับสนุนหมดลง ส่วนประเทศอย่างอินโดนีเซียซึ่งในเรื่องที่ทำงานวิจัยอยู่นั้นรัฐบาลมีการขับเคลื่อนเชิงนโยบายและการนำองค์ความรู้ที่ได้มาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการกำหนดนโยบายต่าง ๆ ทำให้เขาขยับตัวได้อย่างรวดเร็วประกอบกับการได้รับการสนับสนุนจากนานาชาติด้วย ก็ดูว่าน่าจะไปได้ดี ไม่ต้องพูดถึงเวียดนามซึ่งเช่นกันวันนี้มาแรงกันในทุก ๆ เรื่อง กลับมามองตัวเองและประเทศไทย คงต้องรับรู้การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น การทำงานร่วมกันกับเครือข่ายต่าง ๆ ก็ยังสำคัญยิ่ง รวมไปถึงการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานให้ทุนต่าง ๆ ก็ดูเสมือนเป็นความจำเป็นมากยิ่งขึ้น ในบริบทของคณะฯ อย่างที่เคยเรียนพวกเราไปบ้างแล้ว เราจะพยายามจัดกระบวนทัศน์ต่าง ๆ และหาโอกาสคุยและทำความรู้จักกับแหล่งทุนต่าง ๆ ให้มากยิ่งขึ้นด้วย ซึ่งหากท่านไหนมีคำแนะนำใด ๆ ยินดีนะคะ

กลับมาเมื่อวันเสาร์มีโอกาสไปร่วมงาน 55 ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้เจอพี่ ๆ ศิษย์เก่าของเราจำนวนมาก เห็นแล้วก็ดีใจ พร้อมได้รับคำแนะนำจากพี่ ๆ มาจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเครือข่ายการทำงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรม เรื่องของความภูมิใจในการเป็นวิทยาศาสตร์ เป็นต้นน้ำ เป็นหัวใจที่สำคัญ รวมไปถึงเรื่องของ frontier ต่าง ๆ พี่ ๆ พร้อมดูแลสนับสนุนน้อง ๆ ไม่ว่าจะเป็นบริบทของการให้ทุน รวมไปถึงการรับเข้าไปฝึกงาน สหกิจศึกษากัน ของคณะเองที่จะจัดขึ้นในวันที่ 4 มิ.ย. นี้ ก็อดจะตื้นเต้นไม่ได้ น่าจะเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขกันอีกครั้งเมื่อมีโอกาสได้เจอคณาจารย์ รวมไปถึงเพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ เล่าความหลังกันบ้าง และถือโอกาสประชาสัมพันธ์กับกิจกรรมส่งภาพเก่าที่เกี่ยวข้องกับคณะวิทยาศาสตร์ในทุกสมัย ในหัวข้อ ย้อนเวลาผ่านความทรงจำ 55 ปีคณะวิทยาศาสตร์ ม.อ. พร้อมแบ่งปันและบอกเล่าเรื่องราวความทรงจำโดยส่งภาพภายพร้อมบรรยายความทรงจำพร้อมเขียน ชื่อสกุล รุ่นที่ พร้อมเบอร์ติดต่อกลับ ที่สำคัญสามารถส่งได้มากกว่า 1 รูปมาที่อีเมล 55years.scipsu@gmail.com ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 1 มิถุนายน 2566 โดยรูปภาพของทุกท่าน จะจัดแสดงบริเวณตึกฟักทองในงานคืนสู่เหย้า คืนสู่เหย้า 55 ปี “วิดยา With U” 4 มิถุนายน 2566โดยรูปถ่ายท่านใดถูกใจลุ้นรับรางวัล กล้องถ่ายรูปโพลารอยด์ จำนวน 1 รางวัลและ ของที่ระลึกจากงาน 55 ปีคณะวิทยาศาสตร์ ม.อ. อีก 4 รางวัล ท่านใดมีภาพเก่าๆ สามารถส่งเข้ามาได้เลยนะคะ

สุดท้ายนี้มีผลงานดีๆ จากนักศึกษาของเรานาย พีรณัฐ นาคปลัด สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ได้ทำ 3D PSU Journey in 3D [HATYAI CAMPUS] เป็นการแสดงภาพแผนที่เฉพาะอาคารภายในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ และส่วนงานประเภทวิชาการกลางของมหาวิทยาลัย สามารถรับชมได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=BI7qIGrQ4FI

ขอบคุณมากค่ะ

ระบบการจัดทำความร่วมมือทางวิชาการ (MOU/MOA)

MOU

(ระบบเดิม)

MOU/MOA

(ระบบใหม่ : ระยะทดลองใช้)