อธิการบดี ม.อ. เปิดงานประชุมวิชาการอนุกรมวิธานและซิสเทมาติคส์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 11 (TST 2023)
- วิจัย
- 1,204
วันนี้ (พฤหัสบดีที่ 18 พฤษภาคม 2566) อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิวัติ แก้วประดับ เป็นประธานเปิดงานประชุมวิชาการอนุกรมวิธานและซิสเทมาติคส์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 11 (The 11th Conference on Taxonomy and Systematics in Thailand) โดยมีคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รองศาสตราจารย์ ดร.อัญชนา ประเทพ กล่าวรายงาน ณ ห้อง L1 ศูนย์ปาฐกถาประดิษฐ เชยจิตร (ตึกฟักทอง)
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิวัติ แก้วประดับ กล่าวว่า งานประชุมวิชาการอนุกรมวิธานและซิสเทมาติคส์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 11 จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยในปีนี้ต้องขอบคุณคณะกรรมการที่เลือกให้คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นเจ้าภาพในการจัดงานเนื่องจากในสงขลาเองนั้นมีความหลายหลายทางด้านอนุกรมวิธาน การจัดงานในครั้งนี้ ภายใต้หัวข้อ “Unseen Ecosystem of Peninsular Thailand” นับเป็นเวทีสำคัญในการแลกเปลี่ยนความรู้และผลงานวิจัยทางด้านทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ การอนุรักษ์ทรัพยากรและการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ระหว่างผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัย และผู้ที่สนใจ รวมทั้งเปิดโอกาสให้นักวิจัยได้นำเสนอผลงานวิจัย ก่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างผู้เชี่ยวชาญ อันจะนำไปสู่การเผยแพร่องค์ความรู้และผลงานวิจัยรวมถึงการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนต่อไป
ด้าน คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ ม.อ. รองศาสตราจารย์ ดร.อัญชนา ประเทพ กล่าวรายงานว่า การประชุมวิชาการระดับชาติ “อนุกรมวิธานและชีสเทมาติคส์แห่งประเทศไทย” จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ซึ่งครั้งนี้ ถือเป็นครั้งที่ 11 จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 18 – 20 พฤษภาคม 2566 โดยคณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สถานวิจัยความเป็นเลิศความหลากหลายทางชีวภาพแห่งคาบสมุทรไทย ร่วมกับพิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา ๕o พรรษา สยามบรมราชกุมารีและศูนย์แม่ข่ายประสานงาน อพ.สธ. ภาคใต้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ภายใต้หัวข้อ ‘Unseen Ecosystem of Peninsular Thailand” โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ระหว่างผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัย ที่ทำวิจัยทั้งในอดีตและปัจจุบันและบุคคลทั่วไปที่สนใจงานด้านอนุกรมวิธานและชิสเทมาติคส์และสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านอนุกรมวิธานและซิสเทมาติคส์ทั้งในระดับชาติ/ระดับนานาชาติ โดยการจัดงานประชุมอนุกรมวิธานฯ ครั้งที่ 11 ได้รับการสนับสนุนการดำเนินงานจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ได้แก่ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านความหลากหลายทางชีวภาพ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท วินด์ชิลล์ จำกัด บริษัท เอมิ โปร จำกัด บริษัท หาดทิพย์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ขอให้การจัดการประชุมในครั้งนี้เป็น 1 ในการสร้างแรงบันดาลใจสำคัญที่จะทำผลิตงานวิจัย เพื่อประเทศต่อไป