พืชชนิดใหม่ของโลกในสกุลบุหงาเซิง ของพืชวงศ์กระดังงา จำนวน 2 ชนิด
พืชชนิดใหม่ของโลกในสกุลบุหงาเซิง (Friesodielsia Steenis) ของพืชวงศ์กระดังงา (Annonaceae) จำนวน 2 ชนิด
โดย รศ.ดร.จรัล ลีรติวงศ์ สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ร่วมกับ
- Prof. Dr. David M. Johnson: Biological Science Department, Ohio Wesleyan University, Delware, Ohio, U.S.A
- ดร.จิรัฐิ สัตถาพร: ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช
- นายสุเนตร การพันธ์: สถานีวิจัยสัตว์ป่า ป่าพรุ ป่าฮาลา-บาลา เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา
วารสารที่เผยแพร่ผลงาน: วารสารระดับนานาชาติ ฐาน WOS ระดับ Quartile 3 ชื่อวารสาร Phytotaxa ฉบับที่ 589(1) ปี ค.ศ. 2023
พืชสกุลบุหงาเซิง จำนวน 2 ชนิด สำรวจพบจากป่าฮาลาของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา ในเขตอำเภอเบตง จังหวัดยะลา โดยรายงานเป็นพืชชนิดใหม่ของโลก (New species) มีรายละเอียดดังนี้
บุหงาเซิงเบตง: Friesodielsia betongensis Leerat.
บุหงาเซิงเบตง: Friesodielsia betongensis Leerat. เป็นไม้พุ่มรอเลื้อยหรือไม้เถาเนื้อแข็ง มีลักษณะเด่นคือมีดอกสีเหลือง โดยมีสีเขียวบริเวณโคนกลีบ กลีบดอกชั้นนอกที่มีลักษณะภาคตัดตามขวางเป็นรูปสามเหลี่ยม กลีบดอกชั้นในมีความยาวมากกว่าความยาวครึ่งหนึ่งของกลีบดอกชั้นนอก ขึ้นอาศัยในบริเวณป่าดิบเขา อยู่ระดับความสูงเหนือระดับทะเล 1,000-1,200 เมตร พบออกดอกและผลช่วงเดือนพฤษภาคม
ที่มาของชื่อวิทยาศาสตร์: เป็นการตั้งชื่อให้กับสถานที่ที่มีการค้นพบพืชชนิดนี้ในเขตอำเภอเบตง จังหวัดยะลา
บุหงาเซิงฮาลา: Friesodielsia chalermgliniana Leerat.
บุหงาเซิงฮาลา: Friesodielsia chalermgliniana Leerat. เป็นไม้เถาเนื้อแข็ง มีลักษณะเด่นคือมีใบประดับขนาดใหญ่รูปไข่กว้าง กลีบดอกสีเหลือง มีกลีบดอกชั้นนอกที่มีลักษณะภาคตัดตามขวางเป็นรูปสามเหลี่ยม กลีบดอกชั้นในมีความยาวมากกว่าความยาวครึ่งหนึ่งของกลีบดอกชั้นนอก ขึ้นอาศัยในบริเวณป่าดิบชื้น อยู่เหนือความสูงเหนือระดับทะเลประมาณ 500 เมตร พบออกดอกช่วงเดือนพฤษภาคม
ที่มาของชื่อวิทยาศาสตร์: เป็นการตั้งชื่อให้เป็นเกียรติแก่ ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น ผู้เชียวชาญพิเศษ จากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ผู้ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการศึกษาและวิจัยพืชวงศ์กระดังงาของประเทศไทย และเป็นผู้ให้ความรู้ นำออกภาคสนามในการสำรวจ และสนับสนุนให้ผู้แต่งท่านแรกในการศึกษาพืชวงศ์กระดังงาของประเทศไทย