คณะวิทยาศาสตร์ ม.อ. ได้รับเกียรติจาก Prof. Takaaki Kajita ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ ปาฐกถาพิเศษในวาระครบรอบ 55 ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

SHARE
TWEEET
EMAIL

วันนี้ (วันพุธที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566) ณ ศูนย์ปาฐกถาประดิษฐ์ เชยจิตร คณะวิทยาศาสตร์ ม.อ. ได้รับเกียรติจากส่วนกลาง International Peace Foundation (IPF) โดยการสนับสนุนของ บริษัท มิตซุย ฟูโดซัง จำกัด โรงแรมดุสิตธานี แอนด์รีสอร์ท ธนาคารกสิกรไทย และ บีเอ็มดับเบิลยู จัดปาฐกถาสุดพิเศษโดย Prof. Takaaki Kajita อาจารย์ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ในปี 2015 บรรยายในหัวข้อ “The importance of science for peace-building” ภายใต้กิจกรรม JAPAN-ASEAN BRIDGES Event Series ในโอกาสฉลองครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์ญี่ปุ่น-อาเซียน และในวาระครบรอบ 55 ปี แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในปี 2566 โดย ผศ. ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวเปิดงาน Mr. Uwe Morawetz, Founding Chairman of International Peace Foundation กล่าวรายงาน ศ. ดร.อัญชนา ประเทพ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ กล่าวต้อนรับ พร้อมด้วย คณะผู้บริหาร คณาจารย์ นักวิจัย บุคลากร นักศึกษา และนักเรียนในพื้นที่ เข้าร่วมกิจกรรมเต็มความจุของห้องอีกทั้งยังมีช่วงเวลา Q&A ซึ่งมีน้องๆ นักเรียน นักศึกษา คณาจารย์ สอบถามอาจารย์อย่างเป็นกันเอง

สำหรับ Prof. Takaaki Kajita เป็นนักฟิสิกส์ชาวญี่ปุ่นและเป็นศาสตราจารย์ประจำสถาบันวิจัยรังสีคอสมิกแห่งมหาวิทยาลัยโตเกียว ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์จากการค้นพบการเปลี่ยนรูปกลับไปกลับมาของนิวทริโนจากชนิดหนึ่งไปเป็นอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งพิสูจน์ว่าอนุภาคมูลฐานเหล่านั้นมีมวลทีมงานของท่านที่สถานีตรวจวัดนิวทริโน Super-Kamiokande พบว่าเมื่อรังสีคอสมิกกระทบชั้นบรรยากาศโลก นิวทริโนที่เกิดขึ้นจะเปลี่ยนรูปสลับไปมาระหว่างนิวทริโนสองชนิดก่อนที่จะไปถึงเครื่องตรวจวัดใต้ภูเขา Ikenoyama ใน Kamioka ประเทศญี่ปุ่นการค้นพบนี้พิสูจน์การมีอยู่ของการเปลี่ยนรูปกลับไปกลับมาของนิวทริโน และชี้ให้เห็นความบกพร่องของแบบจำลองมาตรฐานซึ่งเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง โดยทฤษฏีนี้สันนิษฐานว่านิวทริโนไม่มีมวลการทดลองของ Prof. Takaaki Kajita และเพื่อนร่วมงานได้กลายเป็นวิธีที่มีศักยภาพ ทรงพลัง ใช้งานได้หลากหลาย และมีประสิทธิภาพมากที่สุดในการศึกษาฟิสิกส์อนุภาค รวมถึงตัวจักรวาลเอง

การศึกษาเกี่ยวกับนิวตริโน นอกจากอาจจะนำไปสู่ทฤษฎีทางฟิสิกส์ใหม่ ๆ แล้ว ยังสามารถช่วยให้นักฟิสิกส์ได้เข้าใจวิวัฒนาการของเอกภพยิ่งขึ้น เพราะถึงแม้นิวตรีโนจะเป็นอนุภาคที่มีมวลน้อยมาก แต่เมื่อพิจารณาจำนวนนิวตริโนทั้งหมดในเอกภพ โดยประมาณแล้ว นักฟิสิกส์ได้คำนวณไว้ว่า มวลทั้งหมดมีค่าใกล้เคียงกับมวลของดวงดาวที่มองเห็นได้ทั้งหมดในเอกภพ ดังนั้น การศึกษาธรรมชาติและวิวัฒนาการของเอกภพจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่นักฟิสิกส์จะต้องเข้าใจธรรมชาติของนิวตรีโน

การที่นิวตริในมีอันตรกิริยากับสสารต่าง ๆ ทั่วไปในเอกภพน้อยมาก นักฟิสิกส์จึงได้อาศัยนิวตริโนเป็นเสมือน “ผู้ส่งสาร” (Messenger) ของเหตุการณ์สำคัญหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเอกภพ ไม่ว่าจะเป็น ซูเปอร์โนวา (Supernova) หรือ กระบวนการของการก่อกำเนิดเอกภพ Big Bang) ซึ่งหากนักฟิสิกส์สามารถสกัดข้อมูลต่าง ๆ จากนิวตรีโนที่ถูกปลดปล่อยออกมาจากเหตุการณ์เหล่านี้พวกเขาจะสามารถได้ข้อมูลใหม่ ๆ ที่ไม่ไม่สามารถหาได้ด้วยวิธีเดิม ๆ ความพยายามในการศึกษาเอกภพด้วยนิวตรีโนทำให้เกิดสาขาวิจัยใหม่ชื่อว่า ดาราศาสตร์นิวตริโน (Neutrino astronomy)

ของที่ระลึกของคณะวิทยาศาสตร์ที่มอบให้ศาสตราจารย์ Takaaki Kajita เป็นแผ่นเหล็กกล้าไร้สนิม (stainless steel) ขัดเงา รูปร่างของแผ่นเป็นแบบย่อส่วนจากรูปพื้นที่ของวิทยาเขตหาดใหญ่ ซึ่งเป็นที่ตั้งของคณะวิทยาศาสตร์ เขียนลวดลายด้วยแสงเลเซอร์สีน้ำเงิน ที่ควบคุมกำลังและเวลาที่ฉายแสงด้วยความระมัดระวังให้พอเหมาะ ทำให้ได้ลายเส้นสีทองปรากฎบนผิวเหล็กกล้าไร้สนิม ด้านหน้าวาดเป็นรูปของศาสตราจารย์ Takaaki Kajita พร้อมหัวข้อการบรรยาย คู่กับรูปอาคารศูนย์ปาฐกถาประดิษฐ์ เชยจิตร (ตึกฟักทอง) และประดับด้วย ตราสัญลักษณ์ International Peace Foundation (IPF), มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ครบรอบ 55 ปี, คณะวิทยาศาสตร์ ครบรอบ 55 ปี และ BRIDGES ด้านหลังเป็นแผนที่วิทยาเขตหาดใหญ่ บรรจุในกล่องสีทอง (ผลิตและออกแบบชิ้นงานโดย รองศาสตราจารย์ ดร.วรากร ลิ่มบุตร และคณะ, รองศาสตราจารย์ ดร.ชิตนนท์ บูรณชัย และฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์)

SHARE THIS STORY
SHARE
TWEEET
EMAIL

RELATED STORIES