สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ เสด็จฯ ทรงเปิดการประชุมวิชาการ STT49

SHARE
TWEEET
EMAIL

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ เสด็จพระราชดำเนินเป็นประธานเปิดประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 49 The 49th International Congress on Science, Technology and Technology-based Innovation (STT49) หัวข้อ “SDGs FOR THE BENEFIT OF MANKIND” ณ  ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี จังหวัดสงขลา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่

วันนี้ ( 23 มกราคม 2567) เวลา 14.30 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งถึงศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จังหวัดสงขลา ทรงเป็นองค์ประธานพิธีเปิดการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 49 โดยมี รองศาสตราจารย์ธณัฏฐ์คุณ มงคลอัศวรัตน์ นายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ศาสตราจารย์ ดร.อัญชนา ประเทพ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารสมาคม มหาวิทยาลัย และสถาบันเจ้าภาพร่วมจัดการประชุม เฝ้าฯ รับเสด็จฯ

ศาสตราจารย์ธณัฏฐ์คุณ มงคลอัศวรัตน์ นายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กราบบังคมทูลรายงานการจัดประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 49 เป็นความร่วมมือระหว่างสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์และ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินร์ จัดการประชุมภายใต้หัวข้อ “SDGs FOR THE BENEFIT OF MANKIND” โดยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานอื่น ๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเป็นอย่างดี สำหรับกิจกรรมการประชุม ประกอบด้วย การปาฐกถาพิเศษในช่วงพิธีเปิดการประชุม โดยนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลสาขาเคมีประจำปี ค.ศ. 2023 Professor Dr.Moungi G. Bawendi และนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นของประเทศไทย ประจำปี พ.ศ. 2567 การบรรยายของวิทยากรรับเชิญทั้งจากในประเทศและ การอภิปรายกลุ่มการเสนอผลงานวิจัยทั้งในรูปแบบการบรรยายและโปสเตอร์ 13 สาขาวิชา มีการนำเสนอผลงานใน Symposia รวมถึงการประชุมประจำปีขององค์กร สมาคม สาขาที่เกี่ยวข้อง รวมผลงานวิจัยที่นำเสนอในการประชุมครั้งนี้จำนวนเกือบ 300 ผลงาน และมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 600 คน จึงนับเป็นการประชุมทางวิชาการขนาดใหญ่ที่มีการชุมนุมนักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหลากหลายสาขาจากหลายประเทศ เป็นเวทีของการบูรณาการความรู้สู่การพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศให้ยั่งยืนต่อไป

ในการนี้ มีผู้เข้ารับพระราชทานโล่รางวัลจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีจำนวนทั้งสิ้น 25 ราย ประกอบด้วย Professor Dr.Moungi G. Bawendi (ศาสตราจารย์ ดร.โมนกี บาเวนดี) นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลสาขาเคมีประจำปี ค.ศ. 2023 นักวิทยาศาสตร์อาวุโส 1 ราย นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น 1 ราย นักเทคโนโลยีดีเด่น 1 ราย นักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ 3 ราย และนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ 2 ราย ครูวิทยาศาสตร์ดีเด่น 6 ราย และ นักเรียนชนะเลิศโครงงานวิทยาศาสตร์ระดับประเทศประจำปี 2565 จำนวน 8 ราย

ต่อมาเป็นการปาฐกถาพิเศษ โดย Professor Dr.Moungi G. Bawendi (ศาสตราจารย์ ดร.โมนกี บาเวนดี) นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล สาขาเคมี ประจำปี 2023 จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ Bawendi  ประเทศสหรัฐอเมริกา บรรยายนำในหัวข้อ  ” Quantum Dots : Discovery and Synthesis” และการบรรยายพิเศษ โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณวัชรินทร์ รุกขไซยศิริกุลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ประจำปี 2567 บรรยายในหัวข้อ Discovery and development of lead compounds from Thai fungal resources in drug discovery

จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี แสดงความสำเร็จของโครงการด้านวิทยาศาสตร์ ที่ทรงส่งเสริมให้มีขึ้น เช่น บ้านนักวิทยาศาสตร์น้อยประเทศไทย และโครงการโอลิมปิกวิชาการ นอกจากนี้ ยังมีนิทรรศการแสดงผลงานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ อาทิ การผลิตสื่อการเรียนการสอน ในรายวิชามหกายวิภาคศาสตร์ ให้มีความคงทน จับต้องได้, การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีทางแสงร่วมกับเทคโนโลยีควอนตัม, การผลิตสารสกัดมาตรฐานจากสมุนไพรเพื่อใช้ทางการแพทย์, การจัดตั้งสถานีวิจัยพะยูนและหญ้าทะเล เพื่อการอนุรักษ์บริเวณเกาะลิบง จังหวัดตรัง และการจัดตั้งหน่วยตรวจสอบและทวนสอบก๊าซเรือนกระจก เพื่อสนับสนุนให้ประเทศไทยเข้าสู่ Net zero หรือ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์

SHARE THIS STORY
SHARE
TWEEET
EMAIL

RELATED STORIES