เกร็ดความรู้ชีววิทยาเรื่อง: การค้นพบพืชสกุล Gentiana ครั้งแรกบนคาบสมุทรไทย

เกร็ดความรู้ชีววิทยาเรื่อง: การค้นพบพืชสกุล Gentiana ครั้งแรกบนคาบสมุทรไทย

พืชเขตอบอุ่นที่พบบนพื้นที่ภูเขาสูงในเขตร้อน (Relict Temperate Element in the Tropics)

เกร็ดความรู้ชีววิทยาเรื่อง:

การค้นพบพืชสกุล Gentiana ครั้งแรกบนคาบสมุทรไทย

— พืชเขตอบอุ่นที่พบบนพื้นที่ภูเขาสูงในเขตร้อน (Relict Temperate Element in the Tropics)

พืชสกุล Gentiana (ดอกหรีด) จัดอยู่ในวงศ์ Gentianaceae มีสมาชิกทั่วโลกประมาณ 350–400 ชนิด พืชสกุลนี้ส่วนใหญ่พบในเขตอัลไพน์หรือกึ่งอัลไพน์ที่มีภูมิอากาศแบบอบอุ่น ซึ่งที่ราบสูงชิงไห่และทิเบตหรือบริเวณแนวเทือกเขาหิมาลัย เป็นบริเวณที่มีความหลากหลายของพืชสกุลนี้มากที่สุด แต่อย่างไรก็ตามพืชสกุลนี้อาจจะพบได้ในพื้นที่ภูเขาสูงในเขตร้อนด้วย (เนื่องจากบริเวณภูเขาสูงในเขตร้อนมีอากาศที่หนาวเย็นเช่นเดียวกับในเขตอบอุ่น) ซึ่งในเขตภูมิภาคมาเลเซีย (Malesia) มีรายงานไว้เพียงไม่กี่ชนิด และพบเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้น เช่น Gentiana borneensis Hook.f. และ G. lycopodioides Stapf พบที่ยอดเขาคินาบาลู (Mount Kinabalu) และ G. malayana Ridl. พบที่ยอดเขาทาฮาน (Mount Tahan) ซึ่งเป็นยอดเขาที่มีความสูงมากกว่า 2,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล

สำหรับในประเทศไทยเดิมพืชสกุลนี้มีรายงานพบเฉพาะบริเวณภูเขาสูงในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเท่านั้น จนกระทั่งเมื่อเดือนพฤษภาคมในปี พ.ศ. 2565 ที่นักวิจัยจากหน่วยวิจัยพิพิธภัณฑ์พืชมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ร่วมออกสำรวจพื้นที่ภูเขาสูงบริเวณใกล้แนวพรมแดนไทย-มาเลเซีย อ. เบตง จ. ยะลา ซึ่งพบพืชในสกุลนี้ขึ้นอาศัยในแอ่งพรุข้าวตอกฤาษี (Sphagnum bog) ที่ระดับความสูงประมาณ 1,500 เมตรจากระดับน้ำทะเล แต่ ณ ขณะนั้นยังไม่ทราบชนิด ภายหลังศึกษาและตรวจสอบพบว่าพืชที่พบมีลักษณะสัณฐานวิทยาหลายอย่างที่ไม่ตรงกับพืชที่มีบรรยายไว้แล้ว จึงเสนอให้เป็นพืชชนิดใหม่ลงในวารสาร Phytotaxa โดยตั้งชื่อว่า Gentiana betongensis J.Wai (ดอกหรีดเบตง)

พืชชนิดนี้มีต้นขนาดเล็กสูงประมาณ 7-10 เซนติเมตร ลำต้นไม่แตกแขนงหรือแตกแขนงน้อย ดอกมีสีม่วง มีกลีบดอกเชื่อมกันเป็นหลอด เกสรตัวผู้ติดอยู่บนหลอดกลีบดอก ยอดชูเกสรเพศเมียโค้งม้วนเป็นวง ผลแห้งแล้วแตก เมล็ดมีขนาดเล็ก มีรูปร่างรี ผิวเมล็ดย่นและมีลวดลายที่สานเป็นร่างแห จากการศึกษาชีววิทยาของสืบพันธุ์ของพืชชนิดนี้ พบว่าสามารถติดผลและเมล็ดเองได้โดยไม่ต้องมีแมลงช่วยผสมเกสร (Autogamy) และมีการกระจายเมล็ดโดยอาศัยน้ำฝน (Splash Cup Dispersal Mechanism) ในแง่สถานภาพด้านการอนุรักษ์ ดอกหรีดเบตงนับว่าเป็นหนึ่งในสองชนิดของพืชในสกุลนี้ที่พบบนคาบสมุทรไทย-มลายู จากการสำรวจพบประชากรจำนวนน้อย ไม่ถึง 10 ต้น และกระจายในบริเวณที่จำกัด ดังนั้นสถานภาพของพืชชนิดนี้ จึงจัดเป็น Critically Endangered (CR) ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่งตามเกณฑ์ของ IUCN จากข้อมูลสภาพแวดล้อมบรรพกาลในอดีตที่มีหลักฐานว่า พื้นที่ภูมิอากาศอบอุ่นเคยมีอาณาเขตกว้างกว่าปัจจุบันมาก ดังนั้นการที่พบสกุลนี้ในเขตร้อนนับว่าเป็นพืชเขตอบอุ่นที่ตกค้างในเขตร้อน (Relict Temperate Elements) ซึ่งจากสถานการณ์ภูมิอากาศโลกที่เปลี่ยนแปลงไปจากผลกระทบของกิจกรรมมนุษย์ อุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นอาจจะส่งผลกระทบกับ ดอกหรีดเบตงที่อาศัยอากาศเย็นอยู่บริเวณยอดเขาสูงนี้ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยคุกคามอื่น ๆ เช่น การสร้างถนนตัดผ่ากลางพื้นที่พรุบนภูเขา ซึ่งอาจจะมีแผนผลักดันให้สร้างในอนาคต

ในทางพฤกษศาสตร์และอนุกรมวิธานพืช การศึกษาเพื่อให้เข้าใจชีววิทยาของพืชชนิดนี้คงยังไม่จบแต่เพียงเท่านี้ เพราะยังมีสิ่งที่ยังไม่รู้อีกมาก เป็นปริศนาที่ศึกษาค้นคว้าต่อไปได้อีก สิ่งความสำคัญไม่ใช่การค้นพบพืชชนิดใหม่ แต่เป็นความหมายทางชีววิทยา (biological meaning) ต่างหาก

เรื่องและภาพ: เจริญศักดิ์ แซ่ไว่
พิพิธภัณฑ์พืชมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

เอกสารอ้างอิง
Sae Wai, J. 2024. Gentiana betongensis (Gentianaceae), a new species from tropical montane sphagnum bog in Peninsular Thailand. Phytotaxa 633(1): 60–67.