อพวช. เชิญทีมประชาสัมพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์ ม.อ. ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การสื่อสารวิทยาศาสตร์ไปสู่สาธารณะ
- บุคลากร
- 236
เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2567 ณ โรงแรมดิเอ็มเพรส จังหวัดเชียงใหม่ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) หรือ NSM จัดโครงการเสวนาวิชาการนานาชาติ เรื่อง “การส่งเสริมการสื่อสารวิทยาศาสตร์และการรู้วิทยาศาสตร์ของประชาชน” (International Symposium of Science Communication and Public Science Literacy) เพื่อเป็นเวทีการแลกเปลี่ยนความรู้เชิงวิชาการและประสบการณ์ด้านวิชาการระหว่างผู้เชี่ยวชาญในระดับชาติและระดับนานาชาติด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์ไปสู่สาธารณะ รวมทั้งสร้างเครือข่ายนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์จากหลากหลายหน่วยงาน พร้อมนำไปพัฒนางานวิชาการ การศึกษา ค้นคว้าวิจัยและต่อยอดงานด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์ในประเทศไทยไปสู่มาตรฐานระดับสากล
ทั้งนี้ทางคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยนำโดย รองคณบดีฝ่ายวิชาการ การศึกษา และวิเทศสัมพันธ์ รศ.ดร.พิมลศรี มิตรภาพอาทร และหน่วยประชาสัมพันธ์ งานเครือข่ายและประชาสัมพันธ์ นำโดยนายอิสรภาพ ชุมรักษา หัวหน้าหน่วยประชาสัมพันธ์ และนายภานุมาศ อ่อนมาก นักวิชาการอุดมศึกษา ได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากประสบการณ์ในการสื่อสารวิทยาศาสตร์จนเป็นที่โดดเด่น ทั้งนี้การสื่อสารวิทยาศาสตร์นับเป็นเครื่องมือสำคัญในการถ่ายทอดและส่งต่อคุณค่าของวิทยาศาสตร์สู่สังคมในประเทศชั้นนำที่มีการใช้วิทยาศาสตร์เป็นพื้นฐานในการพัฒนาประเทศ โดยการนำผลงานและการศึกษาวิจัยต่าง ๆ ไปปรับใช้เพื่อการสื่อสารวิทยาศาสตร์ตามบริบทต่าง ๆ ในสังคม
ภายในงานเสวนาวิชาการนานาชาติฯ มีการบรรยายโดยผู้เชี่ยวชาญจากในประเทศและต่างประเทศมากมาย อาทิ ดร.กรรณิการ์ เฉิน รองผู้อำนวยการ อพวช. และอุปนายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ รับหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการเสวนา จากในและต่างประเทศ ในเรื่อง การอภิปรายเกี่ยวกับบทบาทของการสื่อสารวิทยาศาสตร์ในยุค AI และความสำคัญของการทำงานร่วมกันในเครือข่าย การแบ่งปันประสบการณ์ในการสื่อสารวิทยาศาสตร์เพื่อลดช่องว่างระหว่างวิทยาศาสตร์กับสาธารณชนและการนำเสนอแนวทางการพัฒนางานด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์ในอนาคต การเข้าร่วมงานครั้งนี้เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อคณะวิทยาศาสตร์ ม.อ. ในการพัฒนางานด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานและผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ